วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

อาจารย์ มสธ. คว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ

         

           มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ขอแสดงความยินดี กับรองศาสตราจารย์ ดร.พอพันธ์ อุยยานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่เข้ารับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ทางด้านรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี ในชื่อเรื่อง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ 5 ภูมิภาคของไทย ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา

            รางวัลผลงานวิจัย โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)  ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2517 โดยเป็นรางวัลที่มอบให้กับนักวิจัยที่ได้ทำการวิจัย   อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยลักษณะของผลงานที่เสนอขอรับรางวัล ต้องไม่เป็นงานวิจัยที่ทำเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรใดๆ  ทั้งนี้คณะผู้วิจัยอาจมีนักวิจัยชาวต่างประเทศร่วมด้วยก็ได้ แต่ผู้เสนอขอรับรางวัลจะต้องเป็นนักวิจัยที่มีสัญชาติไทย และเป็นผู้วิจัยหลัก เป็นผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง ใช้วิธีวิเคราะห์ หรือสังเคราะห์ที่เหมาะสม มีความชัดเจน และเป็นผลงานวิจัยที่สำเร็จสมบูรณ์ได้รับการเผยแพร่ในวารสารระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ ตามมาตรฐานของ วช. โดยวารสารนั้นอาจเผยแพร่เป็นรูปเล่มสิ่งพิมพ์ หรือเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีกำหนดการเผยแพร่อย่างแน่นอนชัดเจน หรือเสนอในการประชุมทางวิชาการแล้ว โดยภายหลังจากการประชุมทางวิชาการได้มีการบรรณาธิการ และนำไปรวมเล่มเผยแพร่ในหนังสือประมวลผลการประชุมทางวิชาการ (Proceedings) ของการประชุมทางวิชาการระดับชาติ หรือนานาชาติ และเป็นผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง

   รองศาสตราจารย์ ดร.พอพันธ์ อุยยานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ได้กล่าวว่า การทำผลงานในชื่อเรื่อง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ 5 ภูมิภาคของไทย เป็นการบุกเบิกการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของกรุงเทพฯภาคกลาง ภาคเหนือภาคใต้ และ ภาคอีสาน ภายหลังการลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริ่งในปี 2398 จนถึงปัจจุบัน โดยใช้มุมมองทางด้านภูมิภาค ซึ่งน่าจะทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมระยะยาวได้ถูกต้องกว่าการใช้มุมมองจากกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่ากรุงเทพฯ มีอิทธิพลต่อสังคมไทยด้านต่างๆ มาโดยตลอดก็ตาม นอกจากศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจชนบท และการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจชนบทมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจกรุงเทพฯอย่างไรแล้วยังศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆ ด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การค้าและบริการ การเติบโตของประชากรและเมือง บทบาททางเศรษฐกิจของชาวจีนอพยพ การย้ายถิ่น ตลาดแรงงาน การคมนาคมขนส่ง ตลอดจนประเด็นและปัญหา ฯลฯ ไปพร้อมๆกัน เพื่อทำให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น








































           

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น