วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

มสธ.จัดประชุมเตรียมความพร้อมปริญญาบัตร ม.ราชภัฏ

       
          วันนี้(27 ก.พ. 2561) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดการประชุมเตรียมความพร้อมเพื่อรับรองการใช้สถานที่และบุคลากรสนับสนุนของมหาวิทยาลัย ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตส่วนกลาง และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในระหว่างวันที่ 4-11 มีนาคม 2561 ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จ.นนทบุรี โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณุมาศ ขัดเงางาม
กรรมการสภามหาวิทยาลัย รักษาการแทนอธิการบดี เป็นประธานในที่ประชุม เพื่อแจ้งทราบให้แก่ผู้ปฏิบัติงานถึงข้อปฏิบัติในวันพิธีพระราชทานปริญญาบัตร โดยมีผู้ปฏิบัติงานจากบุคลากร มสธ.
จำนวนทั้งสิ้น  91 คน

          มหาวิทยาลัยจึงขออภัยในความไม่สะดวกสำหรับผู้ที่ติดต่อราชการ ในวันดังกล่าว

วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎธานี เข้าศึกษาดูงานและเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

       
           เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎธานี เข้าศึกษาดูงานมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อให้ผู้บริหาร และบุคลากรสายวิชาการได้ต้นแบบและวิธีการในการบริหารงาน งานหลักสูตรการจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ณ ห้อง 1607 อาคารบริหาร ชั้น 6 พร้อมกันนี้ในช่วงบ่ายได้เข้าเยี่ยมชม ศูนย์ผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์ กระบวนการผลิตสื่อในระบบการสอนทางไกลของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช และเข้าสักการะและเยี่ยมชมห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณ๊ เพื่อศึกษาแหล่งรวบรวมสารสนเทศเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ ทรัพยากรสารสนเทศที่จัดให้บริการได้แก่ หนังสือส่วนพระองค์ หนังสือทั่วไป วิทยานิพนธ์ รายงานวิจัย บทความสำเนาเอกสารจดหมายเหตุสำนักราชเลขาธิการ ณ อาคารบรรณสาร ชั้น 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช









วันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

มสธ.จัดฝึกอบรมพัฒนาบรรณารักษ์ประเทศกัมพูชา เพื่อเป็นการขยายบทบาทของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย



          หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต แขนงวิชาสารสนเทศศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ ร่วมกับ สมาคมห้องสมุดแห่้งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี มูลนิธิทวีปัญญามูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมห้องสมุดกัมพูชา จัดการอบรมบรรณารักษ์ห้องสมุดประเทศกัมพูชาตามโครงการพัฒนาบรรณารักษ์ประเทศกัมพูชา เรื่อง Management of Academic Libraries and Librarians'Challenges in the Digital Age โดยพิธีเปิดการจัดฝีกอบรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ วัฒนาพงษากุล ประธานกรรมการประจำสาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดฝึกอบรมในครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ทางวิชาชีพโดยเฉพาะบรรณารักษ์ และเป็นการขยายบทบาทของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต แขนงวิชาสารสนเทศศาสตร์ มสธ.ออกสู่ระดับสากล โดยการจัดฝึกอบรมดังกล่าวรวมระยะเวลา 5 วัน( ระหว่างวันที่ 12-16 กุมภาพันธ์ 2561) จัดขึ้น ณ ห้องประชุม 1608 อาคารบริหาร มีผู้เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ จำนวนทั้งสิ้น 21 คน













วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

อาจารย์ มสธ. คว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ

         

           มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ขอแสดงความยินดี กับรองศาสตราจารย์ ดร.พอพันธ์ อุยยานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่เข้ารับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ทางด้านรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี ในชื่อเรื่อง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ 5 ภูมิภาคของไทย ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา

            รางวัลผลงานวิจัย โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)  ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2517 โดยเป็นรางวัลที่มอบให้กับนักวิจัยที่ได้ทำการวิจัย   อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยลักษณะของผลงานที่เสนอขอรับรางวัล ต้องไม่เป็นงานวิจัยที่ทำเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรใดๆ  ทั้งนี้คณะผู้วิจัยอาจมีนักวิจัยชาวต่างประเทศร่วมด้วยก็ได้ แต่ผู้เสนอขอรับรางวัลจะต้องเป็นนักวิจัยที่มีสัญชาติไทย และเป็นผู้วิจัยหลัก เป็นผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง ใช้วิธีวิเคราะห์ หรือสังเคราะห์ที่เหมาะสม มีความชัดเจน และเป็นผลงานวิจัยที่สำเร็จสมบูรณ์ได้รับการเผยแพร่ในวารสารระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ ตามมาตรฐานของ วช. โดยวารสารนั้นอาจเผยแพร่เป็นรูปเล่มสิ่งพิมพ์ หรือเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีกำหนดการเผยแพร่อย่างแน่นอนชัดเจน หรือเสนอในการประชุมทางวิชาการแล้ว โดยภายหลังจากการประชุมทางวิชาการได้มีการบรรณาธิการ และนำไปรวมเล่มเผยแพร่ในหนังสือประมวลผลการประชุมทางวิชาการ (Proceedings) ของการประชุมทางวิชาการระดับชาติ หรือนานาชาติ และเป็นผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง

   รองศาสตราจารย์ ดร.พอพันธ์ อุยยานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ได้กล่าวว่า การทำผลงานในชื่อเรื่อง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ 5 ภูมิภาคของไทย เป็นการบุกเบิกการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของกรุงเทพฯภาคกลาง ภาคเหนือภาคใต้ และ ภาคอีสาน ภายหลังการลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริ่งในปี 2398 จนถึงปัจจุบัน โดยใช้มุมมองทางด้านภูมิภาค ซึ่งน่าจะทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมระยะยาวได้ถูกต้องกว่าการใช้มุมมองจากกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่ากรุงเทพฯ มีอิทธิพลต่อสังคมไทยด้านต่างๆ มาโดยตลอดก็ตาม นอกจากศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจชนบท และการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจชนบทมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจกรุงเทพฯอย่างไรแล้วยังศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆ ด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การค้าและบริการ การเติบโตของประชากรและเมือง บทบาททางเศรษฐกิจของชาวจีนอพยพ การย้ายถิ่น ตลาดแรงงาน การคมนาคมขนส่ง ตลอดจนประเด็นและปัญหา ฯลฯ ไปพร้อมๆกัน เพื่อทำให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น